นอกจากการใช้แนวคิด Poeple at Heart จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคนของ KBTG อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการมีทีม Academy ที่เข้มแข็ง ทีม Academy ทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนา “สมรรถนะ (Capability)”
สำหรับ KBTG, Capability ประกอบด้วยส่วนผสมสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. ความรู้ (Knowledge)
2. ความรับผิดชอบ (Responsibility)
3. ทักษะ (Skill Sets)
บันไดแต่ละขั้นของ สมรรถนะะ จะประกอบด้วยส่วนย่อย 3 ส่วนนี้เสมอ ส่วนย่อยนี้เปรียบเสมือน “ค่าคาดหวัง (Expectation)” สำหรับพนักงานทีเริ่มไต่บันได 7 ขั้นขององค์กร พนักงานจะทราบอย่างชัดเจนว่าแต่ละขั้นที่จะเติบโตไป ตนเองจะต้องมีความรู้อะไร มีความรับผิดชอบอะไร และมีทักษะด้านใดบ้าง
เพื่อให้พนักงานมีการพัฒนาสมรรถนะของตน KBTG น้อมรับแนวคิดเรื่องการพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan : IDP) เข้ามาใช้ในองค์กรตั้งแต่เริ่มต้น และยังคงมีความเชื่อว่าการทำ IDP เป็นส่วนผลักดันให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในอาชีพ และเสริมองค์กรให้แกร่งอย่างยั่งยืนได้ แต่การทำ IDPมีความท้าทายหลายประการ ดังนี้:
1. จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการกำหนด Capability ที่เหมาะสมให้กับทุกตำแหน่งงาน – การจะกำหนด Capability ที่เหมาะสม KBTG สร้างทีมที่ประกอบด้วยคนจาก Academy, หัวหน้างาน, และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (External Experts) ทีมจะร่วมอภิปราย ให้ความเห็น และกำหนดสมรรถนะ กระบวนนี้เปรียบเสมือน “การจรดกระดุมเม็ดแรก” หากจรดผิดจะทำให้สิ่งที่จะทำต่อไม่ได้ผล ดังนั้น KBTG จึงให้ความสำคัญกับการกำหนดสมรรถนะอย่างสูงสุด
2. หัวหน้างานต้องเป็น Human Manager – นอกจากจะมีความสามารถทางด้านเทคนิคที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของคนในทีมแล้ว หัวหน้างาน (และรวมไปถึงผู้บริหาร) ต้อง empathise ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง รู้จุดแข็ง และเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองของน้องๆในทีม ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการทำงาน หรือ ทักษะอื่นๆ หัวหน้างานเปรียบเสมือนศูนย์กลางที่จะโยงความต้องการขององค์กร สมรรถนะที่จำเป็นที่เสนอโดยผู้เชี่ยวชาญ และความรู้ความเข้าใจของคนในทีม เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีทีม Academy เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน ทำให้การกำหนดสมรรถนะเป็นไปได้
3. ต้องมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคนที่ชัดเจน – เป้าหมายที่ทีม Academy ตั้งไว้คือ พนักงานต้องสามารถไต่บันได 1 ขั้นภายใน 2 ปี แต่…ไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำ IDP ดังนั้น ทีม Academy ร่วมกับหัวหน้างานต้องสร้างแรงจูงใจ ชักชวน โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการทำ IDP ให้แก่พนักงาน ที่ KBTG การทำ IDP ไม่ได้ผูกโยงเข้ากับการประเมินผลงาน หรือ ขั้นเงินเดือน อย่างไรก็ตามการทำ IDP เพื่อสร้างสมรรถนะที่ดีขึ้นจะสร้างโอกาสให้พนักงานสามารถทำงานได้ดีขึ้นเก่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถได้รับการโปรโมทไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ถูกต้องแล้ว! ระดับสมรรถนะคือปัจจัยหนึ่งในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นแต่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด (ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ใช้พิจารณาร่วม เช่น ความสามารถตามตำแหน่งงาน เป็นต้น)
4. ต้องทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่อ และนำความรู้มาใช้ทำงานให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง – ทีม Academy ต้องติดตามประเมินผลลัพธ์ของการเรียน ทำงานร่วมกับ Manager เพื่อที่จะติดตามตรวจสอบว่าพนักงานมีการนำความรู้จากการอบรม/พัฒนามาใช้ได้จริงหรือไม่ การอบรมพัฒนามีวิธีการที่หลากหลาย การเข้าร่วมเรียนในคอร์ต่างๆคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 10% แรกของการฝึกอบรมทั้งหมด แต่วิธีการส่วนใหญ่ที่จะสร้างผลลัพธ์ให้เป็นที่ประจักษ์ได้คือการลงมือปฏิบัติ โดยมี Coach หรือ Mentor ช่วยกำกับดูและให้คำแนะนำ (สูตรของ KBTG กับ มช.เหมือนกันคือมีแบ่งรูปแบบการอบรมพัฒอบรมเป็น 3 แบบ โดยมีอัตราส่วน 10%, 20%, และ 70% – 10% แรกเป็นการฟังหรือเรียนแบบ lecture ส่วน 90% ที่เหลือเน้นที่การทำจริง) การอบรมมีความหลากหลายในตัวรูปแบบและเนื้อหา มีทั้งการอบรมแบบ online และ offline KBTG ลงทุนซื้อเนื้อหาแบบ online จาก learning platform ต่างๆ เช่น Udemy, Skill Lane, Corsera เป็นต้น หน้าที่ของทีม Academy คือสรรหาเนื้อหาที่เหมาะสมกับงานตำแหน่งต่างๆมาให้พนักงาน และคอยติดตามว่ามีพนักงานเข้าเรียนใน platform ต่างๆ รวมถึงกระตุ้นให้พนักงานเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากความท้าทาย 4 ข้อใหญ่ข้างต้น การพัฒนาคนมีความท้าทายอื่นๆอีกมากมายซึ่งด้วยเวลาที่จำกัดทำให้ไม่ได้มีการลงรายละเอียดไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม มีรูปแบบการพัฒนาคนอีกแบบหนึ่ง (ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัท Arise – บริษัทTech ซึ่งแยกออกมาจากธนาคารกรุงไทย ได้เคยเล่าไว้) คือการสร้างชมรม นำคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกันมาอยู่ด้วยกัน ที่ KBTG มีทั้งชมรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน เช่น ชมรมคนเขียน Java ชมรมคนเขียน GoLang ไปจนถึงชมเพื่อสันทนาการ เช่น ชมรมคนปลูกกระบองเพชร และเพื่อให้ชมรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ คุณปุ้ย หนึ่งในทีม Academy ของ KBTG ได้บอกว่า เคล็ดลับการสร้างชมรมให้สำเร็จคือ:
1. ชมรมจะต้องมี “แม่เหล็ก” ดึงดูดให้คนเข้ามาหา เช่น เป็นคนที่เก่ง หรือเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งอย่างมาก ทำให้พนักงานคนอื่นอยากเข้ามาคุย มาขอคำปรึกษา มาสอบถาม การเข้าชมรมจะทำให้มีโอกาสที่จะได้พูดคุย ใกล้ชิดกับคนเหล่านี้
2. ทีม Academy ช่วยจัดสรรงาน admin ทุกอย่าง ไม่วาจะเป็นงานเรื่องเอกสาร การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดพื้นที่ ขนม อาหาร เพื่อให้สมาชิกชมรมได้มาพบปะกัน
ผมเชื่อว่าที่ได้รับฟังมาคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทีม Academy ของ KBTG ได้ทำให้กับพนักงานเพื่อที่จะปั้นพนักงานให้มีสมรรถนะดังที่ทีมได้ตั้งเป้าหมายไว้ และทำให้ KBTG บรรลุเป้าหมาย คือ การเป็นบริษัท Tech เบอร์หนึ่งของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะที่ Academy ได้ทิ้งท้ายว่า ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และมีแผนเกี่ยวกับการพัฒนาคนที่ต้องผลักดันให้เห็นความสำเร็จให้ได้ สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดจากทีม Academy ก็คือความปราถนาอย่างแรงกล้า หรือ Passion ที่จะทำให้เป้าหมายขององค์กร ของทีม และของพนักงานแต่ละคน สำเร็จลุล่วง เป็นส่วนส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันนั่นเอง