ข้อดีของการเรียนและการทำงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ม.ช. ก็คือการมีสิทธิ์ใช้บริการ Microsoft 365 ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office หรือ One Drive การใช้สิทธิ์ Microsoft 365 ผ่านสถาบันการศึกษาถือว่า “หรูหรา” พอสมควร เพราะเราได้ใช้บริการในราคาที่ประหยัดกว่าเอกชน หลายๆอย่างก็เรียกว่า Microsoft ลด แลก แจก แถม ให้กับมหาวิทยาลัยแบบใจดี แนว “ป๋า” กันเลยทีเดียว นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้พื้นที่ใน One Drive ขนาด 5 TeraByte (TB) เป็นพื้นที่มหึมาที่อยู่บน Cloud ใหญ่กว่า Harddisk ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ SDD ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตหลายเท่า แทบจะเรียกได้ว่าเชิญให้ทุกท่านขนเอาไฟล์ไปเก็บได้มากเท่าที่ต้องการ
แต่ทุกอย่างย่อมมีราคาของมัน ของฟรีอาจจะมีอยู่จริง แต่มันมีไม่นาน เหมือนเป็นการ “ขุดบ่อล่อปลา” หลอกให้อยากแล้วจากไป หรือ ถ้าอยากใช้ต่อก็ต้องเข้าสู่โหมด “Show Me the Money” สิงหาคม 2567 เป็นวันดีเดย์ที่ Microsoft บอกว่าถ้าอยากใช้พื้นที่ก็ต้อบเริ่มจ่ายเงิน โดยคำนวณจากพื้นที่ที่ใช้เกินโควต้าที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีโควต้ารวมทั้งมหาวิทยาลัย 150 TB แต่สิ่งที่ทุกคนช่วยกันสะสมไว้มีปริมาณถึง 2,000 TB 13 เท่าของพื้นที่ที่เราใช้ได้ ถ้าอยากจะเก็บข้อมูขนาด 2,000 TB หรือ 2 Peta Byte (PB) นี้ไว้ มหาวิทยาลัยต้องจ่ายเงินราวๆ 140 ล้านบาท/ปี
แม่นยิ่งกว่าธิดาพยากรณ์ ทุกคนเดาได้ว่ามหาวิทยาลัยย่อมไม่ยอมจ่าย 140 ล้านบาท/ปี แน่ๆ ทำให้นโยบายในการให้บริการพื้นที่ One Drive ต้องเปลี่ยนไปจากโหมด “First Class” เข้าสู่โหมด “Economy” โดยทันที่ พื้นที่คนละ 5TB หดหายลงเหลือคนละ 15 GB หรือ ลดลงกว่า 300 เท่าตัว แปลกแต่จริงๆเมื่อดูจากสถิติการเก็บข้อมูลแล้ว ประชากรชาว ม.ช. เพียงไม่เกิน 15% เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบเพราะพื้นที่ไม่พอเก็บของ อีก 85% นั้นเรียกว่าชิลเพราะของที่เก็บไว้ใน One Drive มีไม่ถึง 5 GB ด้วยซ้ำ คนเจ็บช้ำจึงมีจำนวนจำกัด แต่ต่อให้หั่นกันขนาดนี้ ม.ช. ก็ยังต้องจ่ายเงินเพิ่มหลักหลายแสนต่อปีอยู่ดีเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยได้ (เพราะ ม.ช. ต้องมีพื้นที่สำหรับ Microsoft Teams และ เก็บ Email ที่จำเป็น)
เหตุผลที่ Microsoft บอกแก่ชาวประชาว่าที่ข้าต้องเก็บเงินเพิ่มเพราะว่าข้าก็รักษ์โลกนะ การต้องสร้าง Cloud Computing จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพื่อเอาไว้เก็บ “Dark Files” (คือ ไฟล์ที่เจ้าของไม่ได้สนใจใยดีจะไปเปิดมาใช้เ่ป็นชั่วนาตาปี แต่ก็ไม่ยอมลบทิ้งเพราะเสียดาย ทำนองว่ามีพื่้นที่ให้เก็บก็เก็บไปซิ ไม่เสียเงิน) เป็นการผลาญทรัพยากรของโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสฟ้า และระบบต่างๆที่ต้องเอามาสร้างและบริหาร Cloud Computing ไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเรียกเก็บเงินจึงเป็นการกระตุกผู้ใช้งานให้เข้าสู่โหมด “5 ส” คือไปสะสางและกำจัดของที่ไม่ใช้ออกไปเสีย ฟังดูเข้าทีแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะ “ซื้อ” เหตุผลนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดนปฏิบัติการทำนองนี้ เราเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วตอนที่ Google ทำแบบเดียวกันนี้ในปี 2566
ประสบการณ์สอนเราว่า “ไม่มีอะไรฟรี ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน” และ “ถ้ามันจำเป็น เราจะจ่าย”
ผมเชื่อว่าครั้งนี้ก็ต้องมีคนยอมจ่าย แต่แค่ยังไม่รู้ว่าแต่ละคนต้องจ่ายเท่าไหร่เท่านั้นเอง