Agile Management – The 10 Values

การบริหารภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วต้องมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สามารถตอบสนองต่อ “ตลาด” หรือ ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงเป้าและทันกาล เครื่องมือทางการบริหารที่สามารถนำมาใช้ได้คือ Agile Management คำว่า ‘agile’ แปลอย่างตรงตัวหมายความว่า “คล่องแคล่ว” ส่วน ‘agility’ ซึ่งเป็นคำนามแปลว่า ‘ความคล่องแคล่ว หรือ ความคล่องตัว’ ความคล่องตัวจะมีนัยแฝงของความยืดยุ่นด้วยเสมอ คือ จะคล่องตัวได้ก็ต้องมีความยืดหยุ่นด้วย เมื่อมองในบริบทองค์กร องค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วทันโลก ตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีก็ต้องมีทั้งความคล่องตัว (agility) และความยืดหยุ่น (flexibility)

Agile Management ประกอบด้วย 3 เสาหลักสำคัญคือ ค่านิยม (values), หลักการ (principles) และ แนวปฏิบัติ (practice)

ค่านิยม (Values) 10 ประการที่สำคัญของ agile management เป็นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การปฏิบัติ

1. Action over Analysis Paralysis หมายถึง ให้ทำมากกว่าคิดวิเคราะห์วางแผน การกระทำ (taking action) เป็นยาขนานเอกที่ใช้แก้อาการ “มัวแต่คิด” การทำงานให้ได้ผลนั้นต้องมุ่งเน้นที่การปฏิบัติงานมากกว่าการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการวางแผนอย่างละเอียด สมมติฐานที่สำคัญก็คือต่อให้วางแผนละเอียดเพียงใด เมื่อนำแผนไปฏิบัติจริงย่อมไม่สามารถทำตามแผนได้ 100% อยู่แล้ว ดังนั้น ควรให้ผลลัพธ์จากการปฏิบัตินำไปสู่การปรับแผนเมื่อจำเป็น

2. Approach over Results หมายถึง องค์กรไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบเนื่องจากจะมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์เสมอ แต่องค์กรสามารถควบคุมปัจจัยภายในเช่น ทัศนคติ กระบวนการ และวิธีการตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ ดังนั้นองค์กรต้องใช้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) เพื่อปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เช่น องค์กรไม่สามารถควบคุมลูกค้าให้รักชอบสินค้า/บริการขององค์กรได้ แต่องค์กรสามารถใช้ feedback ของลูกค้าเพื่อปรับปรุงสินค้า วิธีการให้บริการ หรือนำมาเป็นฐานในการสร้างทัศคติของคนในองค์กรได้

3. Energy over Time หมายถึง การรักษาพลังงานให้อยู่ในระดับสูงเสมอ บุคลากรในองค์กรต้องมีพลังในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ การมีพลังในการทำงานจะทำให้ชั่วโมงการทำงานเป็นชั่วโมงคุณภาพ ดังนั้นการรักษาสมดุลย์ในเรื่องการทำงาน การพักผ่อน การกิน สันทนาการ เป็นสิ่งจำเป็น การมุ่งผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวโดยต้องทำงานหนักมากเกินไปจะส่งผลเสียในระยะยาว ทำให้เกิดการ burnout หรือไม่หมดพลังในการทำงาน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อองค์กรในระยะยาว

4. Focus over Quantity หมายถึง การนำงานแบบไม่เน้นปริมาณแต่ให้ความสำคัญต่องานที่จำเป็นเท่านั้น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่จำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำงานหลายงานพร้อมๆกันโดยมุ่งเน้นแต่ปริมาณเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณภาพของงาน

5. Good Enough over Perfection หมายถึง อย่ามุ่งผลเลิศจนเกินความจำเป็น (perfectionism) แต่จงมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดีเพียงพอต่อการใช้งาน และเป็นผลลัพธ์ที่สามารถนำไปปรับปรุงต่อได้ในอนาคต การมุ่งแต่จะสร้างสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นมักจะนำมาสู่การที่ไม่สามารถสร้างอะไรได้เสร็จแม้แต่อย่างเดียว เพราะมัวแต่คิดว่าสิ่งที่ทำยังดีไม่พอ

6. Growth Mindset over Fixed Mindset หมายถึง การพร้อมจะเรียนรุ้และพัฒนาจากสิ่งที่ตนเองทำอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีความเชื่อว่าทุกสิ่งสามารถพ้ฒนา และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้หมายรวมถึง การพัฒนาตนเอง การพัฒนาสินค้า/บริการ การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาปรับปรุงข้อบกพร่อง ความไม่อยากย่ำอยู่กับที่ และต้องการพัฒนาเติบโตไปพร้อมกับองค์กร

7. Outcomes over Activities หมายถึง ให้วัดความสำเร็จจากผลลัพธ์ การทุ่มเทเวลาและพลังงานไปในการสร้างกิจกรรม/กระบวนการที่ไม่สร้างผลลัพธ์เป็นความสูญเปล่า และบั่นทอนกำลังใจ การทำงานควรมุ่งไปสู่การสร้างผลลัพธ์และคอยปรับวิธีและกระบวนการทำงานให้เอื้อต่อการสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ

8. Strengths over Weakness หมายถึง การใช้พลังงานไปกับการเสริมจุดแข็งและนำจุดแข็งมาสร้างผลลัพธ์ แทนที่จะมัวสนใจกังวลต่อจุดอ่อน แต่ทั้งนี้ถ้าจะต้องให้ความสำคัญต่อจุดอ่อนก็คือให้มุ่งไปที่การแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญเท่านั้น

9. System over Ad Hoc หมายถึง ให้มุ่งสร้างการทำงานอย่างมีระบบที่จะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ ระบบในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีจะนำไปสู่ฐานอันแข็งแกร่งขององค์กร การมีฐานที่แข็งแรงจะทำให้องค์กรสามารถต่อยอดปรับปรุงระบบให้ดียิ่งๆขึ้นไปได้ กระบวนการจะต้องมีความน่าเชื่อถือ บุคลากรต้องมั่นใจได้ว่าถ้าทำตามกระบวนการนั้นแล้วจะทำให้เขาสามารถสร้างผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรได้

10. Value Up over Backlog Burndown หมายถึง แทนที่จะมุ่งสางงานที่ค้างคาอยู่ร่ำไป บุคลากรต้องหันไปทำสิ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร มุ่งสร้างสิ่งที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร ต้องมีแนวคิดว่า สิ่งที่ดีสุดสำหรับองค์กรที่ควรทำถัดไปคืออะไร (What is the next best thing to do?) องค์กรต้องออกจาก fire fighting mode (คือการรบอยู่กับงานปลีกย่อยที่ด้อยคุณค่า งานค้างเก่า) แล้วหันมุ่งต่อการสานวิสัยทัศน์ขององค์กร